PUMA X PLAYSTATION

Thailand’s Got Talent เกมโชว์แหกตา!!


Thailand’s Got Talent เรียลิตีโชว์ที่กลายเป็น Talk of The Town ทันทีที่ออกอากาศ ส่วนหนึ่งมาจากชื่อเสียงอันโด่งดังไปทั่วโลกของรายการต้นฉบับจากประเทศอังกฤษ และอีกส่วนหนึ่งมาจากกลเม็ดการเขียนสคริปต์ของทีมผู้สร้างอย่างเวิร์คพอยท์ ในขณะที่คนทั่วประเทศกำลังเสียน้ำตา หัวเราะร่า เห็นใจ ทึ่ง เอ็นดู รู้สึกรัก และรู้สึกเกลียดไปกับรายการนี้ น้อยคนที่จะรู้ว่าพวกเขากำลังถูก ‘แหกตา’ ขนานใหญ่จาก “เวิร์คพอยท์” 
        
      
ความรู้สึกอินไปกับตัวรายการซึ่งแทบจะไม่ต่างอะไรจากการนั่งดูละครทำให้ผู้ชมนั่งเฝ้าหน้าจอรอคอย “ตัวละคร” ของพวกเขาออกมาแสดงความสามารถ โดยมีบรรดาคณะกรรมการทั้งสามท่านเป็นผู้ชี้ชะตา สิ่งสำคัญที่ทำให้รายการ Got Talent มีพลังดึงดูดยิ่งกว่าละครหลังข่าวก็คือ “ความสามัญธรรมดา” ของตัวละครที่คนดูรู้สึกคล้ายเป็นตัวแทนของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาขี้เหร่ แต่งตัวโทรมๆ ผู้ชายหัวเถิกที่อยากได้เงินไปรักษาแม่ หรือชายหนุ่มติดดินคนหนึ่งที่มีความฝันว่าชีวิตวันข้างหน้าต้องดีกว่าเก่า ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสนับสนุนให้ผู้ชมติดตามรายการนี้อย่างสม่ำเสมอ
      
บางคนดูแล้วได้กำลังใจ บางคนดูแล้วเกิดข้อสงสัยในตัวคณะกรรมการ บางคนรู้สึกว่ามัน ‘เฟก’ บางคนเข้าใจว่าคือแบบฟอร์มของรายการที่มาจากต้นฉบับประเทศอังกฤษ บางคนรู้สึกไม่ชอบคณะกรรมการ บางคนรักผู้เข้าแข่งขันคนนี้แต่เกลียดผู้เข้าแข่งขันอีกคน ไม่ว่าผู้ชมจะรู้สึกรักหรือเกลียดแต่ความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้แหละที่ทำให้มีคนเรือนหมื่น “ติด” รายการนี้อย่างงอมแงม เพราะไม่ว่าคุณจะดูเพราะชอบ หรือดูเพราะแช่ง แต่มันก็ทำให้คุณต้องเปิดดู!!
      
แต่ก่อนที่จะติดตามรายการในรอบท้ายๆ (ที่เหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์) ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์อยากจะขอชวนคุณมาพิสูจน์ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นกับรายการดังกล่าวในทุกซอกทุกมุม ดังนี้
      
 

Got Talent หรือ Got Story?

นับตั้งแต่รายการ Britain’s Got Talent ออกอากาศที่ประเทศอังกฤษ ผู้เข้าแข่งขันหลายพันคนที่พ่วงพาความสามารถ(และความประหลาด)ก็เดินเข้ามาสมัคร แต่ผู้ที่จะผ่านเข้าไปสู่รอบท้ายๆ ได้มักจะต้องมีสตอรีหรือเรื่องราวเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น
      
และนั่นก็ทำให้เกิดความพยายามสร้างสตอรีขึ้นในการแข่งขัน Thailand’s Got Talent !!
จริงอยู่ที่ผู้เข้าแข่งขันบนเวที Got Talent ที่ต่างประเทศมักจะมีเรื่องราวเข้ามาสร้างอารมณ์ให้ผู้ชมเสมอ แต่การเข้ามาของเรื่องราวที่ไม่ว่าจะเป็นดรามาเข้มข้นเรียกน้ำตาหรือดรามาน่ารักๆ ที่พอให้ยิ้มตามเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดตามหลังความสามารถ หรือ Talent ของพวกเขาเสมอ
      
พูดง่ายๆ ว่าความสามารถต้องมาก่อน นั่นคือเก่งจริง มีความสามารถในด้านนั้นๆ อยู่เยอะจริงๆ แล้วค่อยนำเรื่องราวของตัวเองผนวกเข้ามาให้คนดูรู้สึกอินกันมากขึ้น แต่สำหรับการประกวด Got Talent ในบ้านเราแทบจะเรียกได้ว่าความสามารถเป็นรองเรื่องราวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดกรณีขึ้นเวทีมานำเสนอเรื่องราวเป็นหลักอย่างนักแซกโซโฟนพ่อลูกอ่อนที่ยังไม่ทันได้บรรเลงความสามารถก็ขายเรื่องดรามาว่าต้องการนำเงินไปรักษาแม่ที่ป่วยจากวีทีอาร์ก่อนขึ้นเวทีเสียแล้ว
      
จึงไม่ต้องสงสัยว่าผู้ชมจะรู้เรื่องราวของเขามากกว่าจะจดจำชื่อเพลงที่เขาเป่าในวันนั้นได้ จุดที่น่าสังเกตอีกประการก็คือ “การชงเรื่อง” ของคณะกรรมการซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แสดงหลัก ที่เราจะพบได้บ่อยครั้งว่าพวกเขาจงใจ “ชง” ให้ผู้เข้าประกวดในฐานะพระเอกนางเอกเหล่านั้นพรีเซ็นต์เรื่องราวของตัวเอง อย่างกรณีของนักเป่าแซกโซโฟนที่มีสตอรีดรามา กรรมการก็เอ่ยปากถามออกมาตรงๆ ว่า “ถ้าได้เงินจะเอาไปทำอะไร?” ซึ่งเป็นคำถามที่พวกเขาไม่เคยเอ่ยกับผู้เข้าแข่งขันรายอื่นๆ เลยแม้แต่คนเดียว
      


แม้จะเป็นจังหวะที่ไม่เนียนสักเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้การแสดงดำเนินต่อได้ นักเป่าแซกโซโฟนมีโอกาสได้บอกเรื่องราวของตัวเองพร้อมกับร้องไห้ หลังจากนั้นการแสดงหรือความสามารถของเขาก็ดูดีจนถึงขั้นผ่านเข้ารอบ
      
หรือกับเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปีที่มาจากจังหวัดสระบุรีที่ปรากฏตัวในสภาพผมเผ้ากระเซอะกระเซิง หน้ามัน สิวเพียบ และสวมเสื้อผ้าสุดเชยเฉิ่ม รายนี้ขายเรื่องราวกับผู้ชมตั้งแต่ในวีทีอาร์แบบฮาร์ดเซลว่า “หนูเป็นเพียงเด็กบ้านนอกธรรมดาๆ ที่หน้าตาขี้เหร่ ไม่เคยเรียนร้องเพลงมาจากที่ไหน และเพิ่งจะอายุได้เพียง 15 ปีเท่านั้นเองนะคะ”
      
แล้วเธอก็ทำให้คณะกรรมการกับผู้ชมในห้องส่ง(ซึ่งอาจจะรวมไปถึงผู้ชมทางบ้านด้วย) อ้าปากค้างด้วยน้ำเสียงที่ทรงพลังสไตล์ Jennifer Holiday ทั้งหลบเสียงลงต่ำ เค้นเสียงทุ้มใหญ่น่าเกรงขาม และสำรอกเสียงจนคอปูด ทำให้คณะกรรมการและผู้ชมในห้องส่งปรบมือลั่น หลายคนแสดงท่าทางตกตะลึงเพราะนึกไม่ถึงว่าเด็กบ้านนอกจะร้องเพลงได้ทรงพลังขนาดนี้
      
แต่สตอรีที่เด็กผู้หญิงคนนี้นำมาพรีเซ็นต์ดูจะเป็นขนบเดียวกันกับซูซาน บอลย์ คุณป้าเฉิ่มๆ ที่ได้อันดับที่สองบนเวที Britain’s Got Talent ปีที่แล้ว (และโด่งดังไปทั่วโลกจนทำให้หลายคนรู้จักการประกวดนี้ )ไปสักหน่อย ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ถ้าการพยายามสร้างความรู้สึกแตกต่างในคาแร็กเตอร์กับความสามารถแบบคาดไม่ถึงให้เกิดขึ้นในใจของผู้ชมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ “สร้าง” ขึ้นมาอย่างจงใจ
       
เมื่อโลกในยุคปัจจุบันถูกเชื่อมต่อด้วยระบบเวิลด์ไวด์ การปกปิดเรื่องบางอย่างทำได้ยากขึ้น และนั่นก็ทำให้สตอรีที่แท้จริงของเด็กวัย 15 ปีจากจังหวัดสระบุรีรายนี้ถูกเปิดโปง มีคนนำเรื่องราวพร้อมคลิปวิดีโอยืนยันว่าแท้จริงแล้วเธอไม่ใช่เด็กบ้านนอกเฉิ่มๆ เหมือนที่พยายามสร้างภาพ แต่เธอเคยเรียนร้องเพลงอย่างจริงจังและเคยลงประกวดรายการ Singing Kid ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ด้วยชุดสวยเต็มรูปแบบทั้งเสื้อผ้าหน้าผมมาแล้ว ที่สำคัญเธอยังใช้เพลงเดียวกับที่ร้องบนเวที Thailand Got Talent อีกต่างหาก
      
เรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้น และเรื่องราวที่ตั้งใจนำมาเสนอเพียงบางแง่มุมทั้งหลายเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เดียวก็คือการทำให้ผู้ชมรู้สึกอินไปกับตัวละคร(ผู้เข้าประกวด) เป็นการเพิ่มเรตติ้งให้แก่รายการอย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การสร้างเรื่องและการพยายามขายสตอรีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวผู้เข้าแข่งขันฝ่ายเดียว เกิดจากบริษัทเวิร์คพอยท์ที่เป็นผู้ปั้นเรื่องให้ หรือเป็นการพบกันครึ่งทางของผู้เข้าแข่งขันที่อยากได้เงินรางวัลกับผู้ผลิตรายการที่อยากได้เรตติ้งกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เวิร์คพอยท์ในฐานะผู้ผลิตรายการคงจะปฏิเสธได้ยากว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้เข้าแข่งขันเลย
       


 กรรมการร่างทรง?

 คณะกรรมการบนเวที Thailand’s Got Talent ก็คือ นิรุตติ์ ศิริจรรยา, พรชิตา ณ สงขลา และ ภิญโญ รู้ธรรม เป็นสามคนในรายการที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากที่สุด
      
กรรมการไม่มีมาตรฐาน ทำอะไรไม่มีเหตุผล ตัดสินจากความรู้สึกของตัวเองล้วนๆ พฤติกรรมการแสดงออกไม่เหมาะสม กรรมการไม่เด็ดขาด ฯลฯ เป็นข้อหาที่กรรมการทั้งสามได้รับจากผู้ชม ถึงขนาดที่มีผู้ชมหลายคนบอกว่า จุดอ่อนเดียวของรายการ Thailand’s Got Talent อยู่ที่กรรมการ

การตัดสินให้คนเดินเข้าสู่รอบต่อไปด้วยคำพูดสั้นๆ ที่ว่า “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” โดยไม่มีการเสนอแนะติชมทำให้คนดูรู้สึกได้ถึงมาตรฐานที่อ่อนด้อยของกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแสดงที่ “ขัดตา” ผู้ชมได้ผ่านเข้าไปสู่รอบต่อไปอยู่เรื่อยๆ

ทั้งการขึ้นมายืนร้องเพลงรักไม่ต้องการเวลาของน้องแพรวา เด็กผู้หญิงอายุ 4 ขวบที่ต้องยอมรับในความน่ารัก แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความกังขาในเรื่องความสามารถ เพราะหากเทียบกับเด็กในรุ่นวัยไล่เลี่ยกันที่ก้าวขึ้นไปประกวดบนเวที Got Talent ประเทศอื่น จะพบความแตกต่างของความสามารถที่นำขึ้นมาโชว์อย่างชัดเจน เพราะในขณะที่เด็ก 4 ขวบบ้านเราร้องเพลงป็อปตลาด แต่เด็กสี่ขวบที่อังกฤษหรือที่ประเทศจีนกลับออกมาบรรเลงเปียโนเพลง Moonlight Sonata ของบีโธเฟนกันอย่างพลิ้วไหว
      
โชว์เต้น Cover ศิลปินเกาหลีที่เราเห็นกันดาษดื่นก่อนคอนเสิร์ตนักร้องเกาหลีที่เมืองไทยแต่มีแฟนคลับเข้าไปเชียร์มากมายจนกรรมการต้องให้ผ่าน หรือจะเป็นการแสดงร้องเพลงมั่วๆ ของหมอดูหน้าตี๋ท่าทางไม่เต็มเต็งที่กรรมการบอกเพียงแค่ว่ารู้สึก “พอใจ” ก็เลยให้ผ่าน โชว์เหล่านี้นี่เองที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความด้อยมาตรฐานของกรรมการทั้งสาม
      
แต่ทว่า ในความเป็นจริงแล้วกรรมการทั้งสามไม่ได้มีอำนาจล้นเหลือเหมือนเช่นที่พวกเขาแสดงออกบนเวทีเลย ไม่ว่าจะเป็น นิรุตติ์ พรชิตา หรือภิญโญ ทั้งสามล้วนเป็นเพียงผู้แสดงที่มีบทบาทเป็นทั้งพระเจ้าและซาตานกำหนดชีวิตพระเอกนางเอกเหล่านั้น ผู้เข้าประกวดที่จะได้เข้ารอบจะมี “สเปก” ที่ถูกกำหนดไว้อยู่แล้วจากเบื้องบน ทั้งผู้เข้าประกวดแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มที่จะต้องมีคละเคล้ากันไป และนั่นก็ทำให้ทีมเชียร์ลีดดิ้งหูหนวกจากนนทบุรีไม่ผ่านเข้ารอบ ทั้งๆ ที่มีสตอรีดรามาเป็นของตัวเอง แต่โควตาผู้แข่งขันแบบทีมและโควตาคนพิการเต็มแล้วนั่นเอง
      
ในรอบท้ายๆ ของเวที Got Talent ทุกประเทศเราจะเห็นคนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เด็กอายุน้อยๆ, คนที่มีเรื่องดรามาสุดๆ , คนที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้คนดู ผู้เข้าประกวดแบบทีม และคนบ้าๆ บอๆ ที่มาเป็นสีสัน ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนพิการ และมักจะหลงเหลืออยู่ที่ความสามารถในการร้องเพลง การเต้น และการเล่นดนตรีเท่านั้น
      
ไบเบิลของ Got Talent หรือไบเบิลของเวิร์คพอยท์?
ทุกประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์รายการ Got Talent ไปทำ จะต้องสร้างรายการตามคัมภีร์ของต้นฉบับประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างโลโก้ สัญลักษณ์ เวที ฉากหลัง การตัดต่อ ไปจนถึงเรื่องที่ลงลึกกว่านั้นอย่างผู้ชมในห้องส่งกับพิธีกรบนเวทีที่จะต้องมีโอเวอร์แอ็กติ้งตลอดเวลา ไปจนถึงคณะกรรมการทั้งสามคนที่มีคาแร็กเตอร์ให้สวมมาอย่างเสร็จสรรพ
      
แต่การตัดสินซึ่งเป็นสิ่งที่รายการพยายามพรีเซ็นต์ว่าเป็นอิสระของกรรมการนั้นยังเป็นสิ่งที่มีความไม่โปร่งใสอยู่มาก หากดูของต้นฉบับตลอดจนของประเทศอื่นๆ เปรียบเทียบจะเห็นได้ชัดว่ามีความหลากหลายของผู้ที่เข้ารอบท้ายๆ มาตลอดทุกปี แต่ทุกโชว์ล้วนเป็นโชว์ที่ผู้ชมต่างก็ยอมรับในความสามารถของผู้เข้าประกวดทำให้พวกเขายอมรับในคำตัดสินของกรรมการกันอย่างสบายใจ
      
แต่การล็อกสเปกผู้เข้ารอบบนเวที Thailand’s Got Talent ที่ทำให้ผู้เข้ารอบบางคน “ขัดตา” คนดูอย่างแรงก็ทำให้เกิดคำถามถึงเรื่องโควตาของผู้เข้ารอบว่า แท้จริงแล้วเป็นใบสั่งจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือความประสงค์ของเวิร์คพอยท์กันแน่
      
โมเดลลิ่งที่รับหน้าที่พาผู้ชมเข้ามา “แสดงออก” ในห้องส่ง ทั้งหัวเราะ ร้องไห้ ลุกขึ้นยืนปรบไม้ปรบมือ หรือโห่ไล่เป็นเรื่องธรรมดาที่ประพฤติปฏิบัติกันมานานแล้ว รวมทั้งการที่มีโมเดลลิ่งพาผู้เข้าประกวดมาสมัครก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การยื่นสเปกของผู้เข้าประกวดไปให้โมเดลลิ่งค้นหาเพื่อพามา “เข้ารอบ” เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้เข้าประกวดที่ไม่มีสังกัด
      
ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าอาจจะเกิดขึ้นในการผลิตรายการที่ออกตัวว่าเป็นเกมโชว์ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปมาแสดงความสามารถ เพราะคำถามที่ผู้สมัครไร้สังกัดได้ยินมากับหูในวันที่เดินเข้าไปสมัครก็คือ “มีใครติดต่อน้องให้มาสมัครรายการนี้เหรอ?”
      
เด็ก สตรี คนชรา สูตรสำเร็จของเวิร์คพอยท์
หากย้อนไปดูรายการเกมโชว์ของเวิร์คพอยท์จะพบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ความรู้สึกนี้ลุกลามบานปลายไปสู่วงกว้างจนทำให้เกิดกระแส “ไม่เชื่อถือ” เกมโชว์เวิร์คพอยท์ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน และครั้งนั้น “ปัญญา นิรันดร์กุล” ก็ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า “รายการของผมไม่มีทางเตี๊ยมแน่นอน”
      
แต่คนที่ติดตามรายการแฟนพันธุ์แท้, เกมทศกัณฐ์, เกมทศกัณฐ์เด็ก และหลานปู่กู้อีจู้ ไม่รู้สึกเช่นนั้น หากตัดเรื่องความเก่งกล้าผิดมนุษย์ของผู้เข้าแข่งขันรายการออกไป จะพบว่าส่วนมากของผู้ที่ชนะหรือแชมป์ที่ต้องยืนหยัดอยู่คู่กับรายการมักจะมีคุณสมบัติบางประการที่ดึงดูดผู้ชมให้ติดตามเชียร์เสมอ

เกมทศกัณฐ์ในยุคสมัยหนึ่งก็มีทีมสาวสวยนิสิตจุฬาฯ ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงพรีเซ็นเตอร์โฆษณามาแข่งขัน และน่าแปลกที่พวกเธอครองความเป็นแชมป์ได้นานกว่า 5 เดือน และทุกๆ เทปที่ผ่านไปพวกเธอก็มาปรากฏตัวด้วยใบหน้าน่ารัก หุ่นสวยๆ เรียกเรตติ้งให้แก่รายการได้เป็นอย่างดี
      
ทั้งน้องเดียวแห่งรายการเกมทศกัณฐ์เด็กที่มีทั้งความน่ารักน่าเอ็นดูและความฉลาดเป็นกรด อีกทั้งยังมีคาแร็กเตอร์ความทะเล้นนิดๆ ที่เรียกรอยยิ้มกับเสียงหัวเราะของผู้ชมได้ และถ้าย้อนกลับไปดูเทปเก่าๆ ของรายการนี้จะพบว่าเวิร์คพอยท์ตั้งใจผลิตรายการดังกล่าวมาเพื่อทำการค้า ดึงเอาเด็กหน้าตาน่ารักที่เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาและนางแบบตัวน้อยมาเป็นผู้แข่งขันที่ยืนระยะนานหลายเดือน เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกผูกพันนอกเหนือไปจากความรู้สึกเอ็นดูเด็กจากหน้าตาของน้องๆ เหล่านั้นแล้ว
      
คงไม่แปลกอะไรถ้าหากเวิร์คพอยท์จะยึดสูตรสำเร็จของตัวเองดังที่รายการเกมทศกัณฐ์เด็กกับหลานปู่กู้อีจู้(ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหนูน้อยกู้อีจู้) ได้สร้างฐานแฟนๆ ทั่วประเทศสำเร็จมาแล้วบนเวที Thailand’s Got Talent ด้วยการปล่อยให้เด็กตัวเล็กๆ เข้ารอบเพียงเพราะเหตุผลที่ว่า “เด็กน่ารัก” โดยไม่ได้คำนึงถึงคำว่า Talent ที่แปลว่า พรสวรรค์
      
เพราะสตอรีที่ขายได้อย่างแน่นอนในสังคมไทยก็มักจะวนเวียนอยู่ที่เด็ก สตรี และคนชรา เล่นล้ออยู่กับความรู้สึกเอ็นดู สงสาร เห็นใจ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะเป็นการเขียนบทขึ้นมาหรือไม่นั้นไปถามจากปาก “ปัญญา” คงจะไม่ได้คำตอบ สิ่งเดียวที่รู้ก็คือ หากบอสใหญ่ยังคิดว่าคนดูกินหญ้าเป็นอาหารแล้วไม่เลิก “โกหก” ก็คงจะหวัง “ความจริง” อะไรไม่ได้สักประการจากรายการที่ผลิตโดยบริษัทเวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์
        
      
หมายเหตุ - - รายการ Got Talent มีต้นกำเนิดจากนายไซมอน โคเวลล์(Simon Cowell) ครีเอทีฟผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรายการเรียลิตีชื่อดังอย่าง The American Idol และ The Biggest Loser ประเทศต้นกำเนิดคือประเทศอังกฤษ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน มีลักษณะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้แข่งขันจากทางบ้านมาโชว์ความสามารถ “อะไรก็ได้” บนเวที โดยไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติ หน้าตา และรูปร่าง ไม่จำกัดว่าจะมาเดี่ยวหรือกลุ่ม ความเป็นแมสของรายการที่เข้าถึงคนทุกระดับทำให้รายการนี้โด่งดังตั้งแต่ปีแรกที่ออกอากาศ ปัจจุบันรายการนี้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปออกอากาศแล้ว 43 ประเทศ โดยไทยเป็นประเทศที่ 5 ในเอเชียที่ได้ลิขสิทธิ์ผลิตรายการนี้

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์




lip mask dr.pong affiliate



สมัครเพื่อรับข่าวสาร

* indicates required

Intuit Mailchimp

Interest Product