เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า "เวเนซุเอลา" เป็นประเทศที่มีการ"ผลิต"นางงามกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พวกเธอสร้างชื่อให้แก่ประเทศ ด้วยการคว้าตำแหน่ง"ผู้หญิงสวยที่สุดในโลก" ในเวทีระดับโลกอย่างมิสยูนิเวิร์ส และมิสเวิลด์ รวมกันถึง 5 ครั้ง และยังไม่นับตำแหน่งรองอีกหลายครั้ง และเป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นเด็กผู้หญิงวัย 4 ขวบ เข้าเรียนในโรงเรียนสอนนางงาม เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จในอนาคต
โรงเรียนสอนนางงาม"จิสเซลส์" ถือเป็นตัวอย่างได้อย่างดี
บ้านพักขนาดใหญ่ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงเรียนนางงามขนาดย่อมๆ ที่นี่สอนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเดินบนแคทวอล์คด้วยลีลางามสง่า ไปจนถึงการถือแก้วไวน์อย่างถูกวิธี นักเรียนมีอายุตั้งแต่ 4-24 ปี โดยทุกคน ยกเว้นที่ยังเป็นเด็กเล็ก จะต้องสวมรองเท้าส้นสูง 5 นิ้ว ทุกคน
แอนเดรีย ราเยส วัย 21 ปี หลานสาวของจิสเซล เรเยส ผู้ก่อตั้งโรงเรียนและอดีตนางงาม ซึ่งเป็นครูสอนทักษะการเดินบนแคทวอล์คกล่าวว่า นักเรียนทุกคนจะต้องมีผมที่สะอาดและมีสุขภาพดี การแต่งหน้าควรเป็นธรรมชาติ และต้องสวมรองเท้ามีส้นทุกครั้ง ธอเผยว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นธุรกิจภายในครอบครัว ดังนั้นเธอจึงได้เห็นและเรียนรู้ การเรียนการสอนเช่นนี้มาตั้งแต่เด็ก ในห้องเรียนสอนเดินแบบ เรเยสกำลังเด็กโตให้รู้จักการก้าวเท้าบนแคทวอล์คที่สาดส่องด้วยไฟสป็อตไลท์ "ปล่อยแขนตามสบาย เดินยื่นสะโพก"
เด็กๆที่มาเรียน ต่างมีรูปร่างที่แตกต่างกัน หลายคนดูมีแววโดดเด่นมากกว่าคนอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด ในห้องเรียนติดกระจกรอบด้าน เพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นท่าทางลักษณะการเดินของตนเองได้จากทุกทาง
ลีเน็ตต์ นาสซิเมียนโต วัย 18 ปี เป็นหนึ่งในนักเรียนกลุ่มนี้ เธอเดินทางมาจากเกาะอารูบาที่อยู่ใกล้กัน มายังกรุงคาราคัสเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เธอกล่าวว่า เธอต้องการเตรียมตัวเพื่อเข้าประกวดมิสอารูบา และหากสำเร็จ เธอก็จะเข้าร่วมในเวทีมิสยูนิเวิร์ส และว่าเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ดี เพื่อการฝึกทักษะเป็นนางงามมืออาชีพ
ไม่ผิดจากที่เธอพูด เวเนซุเอลา เป็นชื่อประเทศที่เราได้ยินบ่อยครั้งในการประกาศผู้เข้ารอบสุดท้ายในเกือบทุกเวที และมีสูตรลับในการคัดเลือกผู้หญิงที่สวยที่สุดเพื่อให้เตะตากรรมการที่สุด กระทั่งมีผู้กล่าวกันว่า การประกวดนางงามในเวเนซุเอลา ก็เหมือนสังเวียนกีฬาเพื่อการช่วงชิงเหรียญรางวัล
เด็กๆที่นี่ ถ้าไม่หัด ก็ถูกจับแต่งตัวกันตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่เนิ่นๆ ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จของโรงเรียนจิสเซลล์ มีหลายคนที่ชาวเวเนซุเอลารู้จักกันดี อาทิ ดายานา เมนโดซา เจ้าของตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2008
หลังจากการออกกำลังกายเรียกเหงื่อ เรเยสได้เรียกให้เด็กๆมาฝึกเดินบนแคทวอล์คทีละคน ขณะที่เพื่อนๆนั่งสังเกตอยู่ด้านล่าง นาสซิเมียนโตในชุดกางเกงแนบเนื้อสีดำ และรองเท้าส้นสูงได้เดินเป็นคนแรก เรเยสถามความเห็นนักเรียนคนอื่นต่อการเดินและบุคลิกลักษณะของเธอ รวมถึงชี้แนะวิธีการเดินที่เหมาะสมต่อบุคลิกของเธอ ซึ่งได้ผลตอบรับในทางบวก
แม้เธอจะเติบโตท่ามกลางสังคมของความสวยความงาม แต่แอนเดรีย กล่าวว่า เธอเองไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้เป็นในสิ่งที่เธอใฝ่ฝัน เนื่องจากเธอมีความสูงเพียง 160 ซม. ขณะที่หนึ่งในคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดมิสเวเนซุเอลา ต้องมีความสูงอย่างน้อย 170 ซม. และในคลาสที่เธอสอน ซึ่งมีนักเรียนอยู่ราว 20 คน เธอกล่าวว่า มีเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่จะเข้าประกวด ซึ่งจัดขึ้นในทุกเดือนสิงหาคมหรือกันยายนของทุกปี
การประกวดมิสเวเนซุเอลา ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตกูรูด้านนางงามคนดังของประเทศอย่างออสเมล ซูซา มาตั้งแต่ปี 1969 และเขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศในระดับสากล หญิงสาวที่ตั้งความหวังว่าจะได้เข้าประกวดในเวทีขาอ่อนสักครั้ง จำเป็นต้องเสียสละเวลาส่วนตัวในการออกกำลังกาย ระมัดระวังการทานอาหาร รวมถึงการจัดฟัน และการทำศัลยกรรมพลาสติก เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้น
แล้วโรงเรียนจะช่วยนักเรียนที่"สวยไม่พอ"ได้อย่างไร?
เรเยสกล่าวว่า เธอพยายามลดจุดด้อยในตัวนักเรียนแต่ละคนให้มากที่สุด เพื่อให้พวกเธอดูเป็นผู้หญิงมากที่สุด แต่บางครั้งก็หมายถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภาบใน สร้างความมั่นใจให้แก่พวกเธอให้กล้าสนทนากับคนแปลกหน้า หรือการกล่าวคำพูดต่อหน้าฝูงชน
ในเวเนซุเอลา แทบไม่มีข้อสงสัยใดๆต่อปรากฏการณ์ประกวดนางงาม เมื่อปี 1972 กลุ่มเฟมินิสต์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังได้ออกมาขัดขวางการถ่ายทอดสดการประกวดนางงาม และถือเป็นการประท้วงในลักษณะนี้ครั้งสุดท้ายและครั้งเดียวของประเทศ
ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เคยประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาต่อต้านการทำศัลยกรรมพลาสติก และเรียกการผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าออกว่าเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่กลับไม่วิพากษ์วิจารณ์ใดๆหากเพื่อจุดประสงค์ในการประกวดนางงาม
การยอมรับวัฒนธรรมการประกวดนางงามของเวเนซุเอลา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมที่มองว่า "ผู้ชายดีกว่าผู้หญิง" ผู้คนยังคงยึดติดกับบทบาททางเพศตามธรรมเนียมเดิม ที่มองว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนโยนและบอบบาง ขณะที่ผู้ชายแข็งแกร่งและกล้าหาญ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลมาจากความคิดที่มองว่า "ภาพลักษณ์ภายนอก"เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกคน แอนเดรีย เรเยส ยืนยันว่า เธอมักระตุ้นให้นักเรียนให้ความสำคัญต่อทักษะทางสังคมนอกเหนือจากรูปร่างหน้าตาเสมอๆ"เด็กๆที่นี่ หากมัวแต่สนใจแต่เรื่องความสวยความงาม หากไม่ได้เป็นมิสเวเนซุเอลาแล้ว พวกเธอก็อาจอดตายเพราะความหิวโหย"
ขอบคุณ ที่มา : มติชนออนไลน์