แม่...ลูก..และเทคโนโลยี


เห็นลูกยิ้มได้..ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
     เทคโนโลยีการสแกนอัลตราซาวนด์ ช่วยให้คุณแม่และคุณพ่อไม่ต้องอดใจรอลุ้นเพศของลูกน้อยจนถึง 9 เดือน แต่เดี๋ยวนี้วิวัฒนาการยังคงรุดหน้าต่อเนื่องสู่เทคนิคสแกนแบบ 3 มิติ และ 4 มิติ ที่ค้นพบโดย สูตินรีแพทย์ชาวลอนดอน

     เทคนิคการสแกนอัลตราซาวนด์แบบใหม่ที่เรียกว่าการสแกน 3 มิติ และ 4 มิติ สามารถให้รายละเอียดที่ดีกว่า โดยแสดงให้เห็นภาพลูกน้อยวัน 8 สัปดาห์ กำลังขยับแข้งขา หาว กระพริบ ยิ้ม และร้องไห้ ภาพเหล่านี้ล้วนสร้างความประหลาดใจอย่างมากให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ก่อนหน้านี้ไม่เชื่อว่าทารกจะทำท่าต่างๆได้จนกว่าจะคลอดแล้ว และเชื่อว่าทารกจะยิ้มได้ก็โดยการลอกเลียนแบบจากคุณแม่

     และการค้นพบครั้งสำคัญนี้จะสามารถนำไปใช้ในการศึกษาโรคต่างๆของเด็กทารก รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมด้วย เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าเทคโนโลยียิ่งก้าวไกล ยิ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น

คุณแม่ตั้งครรภ์ หลบให้ไกลไมโครเวฟ
     เรื่องพึงระวังของคุณแม่ที่กลังตั้งครรภ์ช่างมีมากมายเหลือเกิน แถมมีงานวิจัยออกมายืนยันและเพิ่มเติมกันอยู่เป็นระยะๆ เมื่อไม่นานมานี้ก็พบรายงานชิ้นหนึ่งแจ้งว่า เตาอบไมโครเวฟอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ปรุง หรืออุ่นในไมโครเวฟเป็นปริมาณมาก อาจได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง

ระวัง..มือถือเปลี่ยนนิสัยลูก
     ด้วยความที่มือถือได้กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายไปเรียบร้อยแล้วสำหรับเด็กยุคใหม่ จากการสำรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นเรื่องโทรศัพท์มือถือกับเด็ก ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พบสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ

1. ทำให้ใจร้อน ไม่รู้จักการรอคอย นึกอะไร หรือจะทำอะไรก็หยิบมือถือขึ้นมาโทรทันที

2. ทำให้ขี้เหงามากขึ้น อยู่กับตัวเองน้อยลง โดยอยู่คนเดียวได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

3. ภาษาแย่ลง สังเกตได้ว่าเด็กยุคนี้มักพูดจาห้วนๆ ไม่มีหางเสียง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเทคโนโลยีให้พื้นที่จำกัดทำให้ใช้คำ หรือประโยคได้จำกัด ขยายความไม่เป็น ความละเมียดละไมในการสื่อสารน้อยลง

     ที่สำคัญพฤติกรรมเหล่านี้เริ่มแพร่ไปในกลุ่มอายุที่น้อยลงไปทุกที และกำลังจะกลายเป็นภัยของเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว เพราะฉะนั้นคุณแม่ที่มีลูกย่างเข้าวัยรุ่นอย่าเพิ่งคิดเพียงแค่ให้ลูกมีมือถือไว้เพื่อความสบายใจ แต่ลองคิดถึงผลเสียระยะยาวที่จะตามมาด้วย แล้วอาจพบว่าบางครั้งการไม่เคยมี(มือถือ) ก็น่าจะดีกว่า

ลูกเก่งและดี ด้วยเทคโนโลยี
     ก่อนจะจูงมือลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล เชื่อว่าคุณแม่มีเรื่องต้องเตรียมการอยู่ไม่น้อยเพื่อให้ลูกน้อยพร้อมก้าวสู่โลกของการเรียนรู้นอกบ้าน และในยุคไซเบอร์อย่างทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเรื่องพัฒนาการ และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเจ้าตัวเล็กไปแล้ว

     เรื่องนี้มีผลพิสูจน์ยืนยันจากนักวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาวิจัยกับกลุ่มเด็กเล็กอายุระหว่าง 3-5 ขวบ จำนวน 122 คน ซึ่งพบว่าเด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งที่บ้านและโรงเรียนในระดับชั้นเตรียมอนุบาลโดยเฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถทำคะแนนทดสอบความพร้อมก่อนเรียน รวมถึงมีทักษะและพัฒนาการที่สูงกว่าเด็กที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนเลย

     แต่ของทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ เพราะผลวิจัยไม่ได้ระบุไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้งานคอมพิวเตอร์ และแนวโน้มการฝึกภาษาสำหรับเด็ก รวมทั้งความดึงดูดใจของคอมพิวเตอร์อาจจะทำให้เด็กๆเมินเฉยกับของเล่นที่ใช้สำหรับฝึกทักษะและพัฒนาการที่สมวัยได้เหมือนกัน

     ควาจริงข้อหลังสุดนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสหรัฐอเมริกา เพราะหลังจากที่พึ่งพาสื่อไซเบอร์และของเล่นอิเล็กทรอนิกส์มากเสียจนเกิดปัญหา เด็กอเมริกามีพฤติกรรมก้าวร้าว จึงพยายามหันมาสบับสนุนให้เด็กเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับวัย ให้ความสนใจกับของเล่นเด็กที่จับต้องได้มากขึ้น

     เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้ลูกเรียนรู้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องเน้นให้เป็นสื่อที่มีเสียงและภาพเหมาะกับวัย อีกทั้งสอดคล้องกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กได้บอกกล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับเด็กที่มีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน กว่า 56% ของเด็กใช้คอมพิวเตอร์ไปกับกิจกรรมหลัก คือการฝึกพิมพ์ เล่นเกม เรียนรู้ซอฟต์แวร์สำหรับเด็กผ่านตัวการ์ตูน วาดภาพ ฝึกการใช้งานเมาส์ และจอยสติ๊ก เป็นต้น

     ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงเป็นหน้าที่ของคุณแม่และคุณพ่อที่จะต้องคอยให้ความดูแลเอาใจใส่ ให้คำแนะนำ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ และจัดสัดส่วนการเรียนรู้ที่สมดุลให้ลูกน้อยพัฒนาทักษะผ่านโลกไซเบอร์พร้อมเติบโตเต็มวัยควบคู่ไปกับโลกความเป็นจริง